"การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องที่ดี

แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องหย่านมควรเป็นเวลาไหนอย่างไร ลองมาดูกันดีกว่าคะ

คำถามยอดนิยมเกี่ยวกับการหย่านม

ควรหย่านมลูกเมื่อใด ย้อนกลับไปที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สักนิด คำแนะนำของกุมารแพทย์ทั่วโลก เห็นตรงกันว่าควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะในน้ำนมแม่จะมีสารที่ให้ภูมิคุ้มกันในขวบปีแรกของชีวิตลูก โดยเฉพาะป้องกันจากโรคของระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร อย่างน้อยที่สุด เด็กก็ควรได้รับนมแม่จนถึง 4 เดือน เพราะในช่วงสามเดือนแรก เป็นช่วงที่ทารกเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด จนเข้าเดือนที่ 4 ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กจะเริ่มทำงาน

เมื่อเด็กพร้อมจะหย่านมแล้ว จะมีสัญญาณที่สังเกตได้หรือไม่

เมื่อเข้าเดือนที่ 9-15 สัญญาณที่เห็นชัดเจนอย่างหนึ่ง ใน การบ่งบอกว่าเด็กพร้อมที่จะหย่านมได้คือ การกวน โยเย ขณะที่ให้นมแม่ ช่วงวัยนี้จะประจวบกับพัฒนาการของเด็ก ที่จะเริ่มคลาน ยืน หรืออาจจะเดินได้แล้ว ขณะที่แม่อุ้มลูกเพื่อให้ดูดนมอยู่นั้น เด็กอาจจะดูดอยู่สักพัก ก่อนจะจ้องมองไปรอบ ๆ ตัว ดิ้นออกจากอ้อมแขน และคลานไปสำรวจโลกรอบตัวโดยที่ไม่ค่อยสนใจจะดูดนมเท่าไหร่

ถ้าลูกปฏิเสธนมขวด จะทำอย่างไรดี

ก่อนอื่นต้องเตรียมการตั้งแต่แรก เมื่อวางแผนจะหย่านมลูกเมื่อใด ก่อนหน้านั้นประมาณ 3 อาทิตย์ เริ่มเสริมนมขวดเข้าไปในมื้อกลางวัน แทนการให้นมแม่ครั้งแรก ทำตามตารางนี้ 5 วัน (อาจเป็นช่วงสายหรือบ่าย) จากนั้นเสริมนมขวดแทนนมแม่เข้าไปอีกมื้อ โดยมื้อนี้เพิ่ม ทุก ๆ 5 วัน แม่บางคนอาจร่นเป็น 3 วันก็ได้ตามความเหมาะสม และปริมาณน้ำนม จนในที่สุด การให้นมแม่ก็อาจจะเหลือมื้อเดียว คือ ตอนเช้าตรู่ช่วงที่น้ำนมคัดเต็มที่ หรือก่อนนอนก็ได้ นอกจากนี้ การให้นมขวดในครั้งแรก ควรทำโดยพ่อหรือคนอื่น ๆ เพราะลูกจะคุ้นกับการเลี้ยงดูโดยแม่ และยังจำกลิ่นน้ำนมของแม่ได้ด้วย หรืออาจให้ง่ายยิ่งขึ้น โดยการเริ่มใช้นมขวดตั้งแต่เดือนแรก ๆ อาจให้ทุกวันหรือวันเว้นวันก็ได้

ควรจะให้ลูกดื่มจากแก้ว หรือจากขวดดีล่ะ

การดื่มนมจากแก้ว เป็นการดื่มนมในอุดมคติทีเดียว แต่เป็นไปไม่ได้เลยในเด็ก วัย 6 เดือน ที่จะมีความชำนาญมากพอ ที่จะควบคุมการดื่มจากแก้วได้ ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับภาชนะหรือการดื่มให้หมดแก้ว จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเด็กอยู่ในวัยระหว่าง 9-12 เดือน สิ่งสำคัญอีกอย่างในการให้ลูกกินนมจากขวด คือ ลูกอาจเกิดการติดเชื้อในช่องหูและโรคฟันผุได้ จากการนอนดูดนมในท่านอนหงาย ซึ่งจะทำให้นมไหลผ่านหลอดนำลม ระหว่างหลังจมูกกับหูช่องกลาง เข้าสู่หูชั้นกลาง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ส่วนฟันผุนั้น เกิดจากการหลับคาขวดนม ซึ่งทำให้น้ำนมค้างในปาก ก่อให้เกิดแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุได้ แม่จึงต้องระวังเรื่องนี้ให้มากๆ ส่วนการดื่มนมจากแก้ว แม่อาจเริ่มด้วยการให้ลูกหัดดื่มน้ำก่อน แล้วตามด้วยของเหลวอื่น ๆ จนลูกชำนาญมากพอ จึงให้นมจากแก้วได้


ขอบคุณนิตยสารรักลูก