ทำอย่างไร? เมื่อมีเลือดออกจากเต้านม

ปัจจุบัน การแพทย์ได้มีการพัฒนาให้ทันสมัย รุดหน้า ซึ่งทำให้การสืบค้นและการรักษาโรคดีขึ้น โรคของเต้านมก็เช่นเดียวกัน ซึ่งในโรคของเต้านม โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมาด้วย การมีก้อนที่เต้านมแต่โรคของเต้านม ก็ยังมีอาการอีกหลายอย่าง ที่จะนำผู้ป่วยมาพบแพทย์
การมีน้ำคัดหลั่งออกจากหัวนม (Nipple Discharge)
ก็เป็นอาการหนึ่งที่พบได้ ถึงแม้จะไม่บ่อยเหมือนก้อนที่เต้านม แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญและควรทราบเช่นเดียวกัน
เมื่อไรที่การมีน้ำคัดหลั่งออกจากเต้านมจึงจะถือว่าผิดปกติ
การมีน้ำคัดหลั่งออกจากหัวนม (Nipple discharge) แล้วถือว่าผิดปกตินั้น จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. ไหลออกมาเอง (Spontaneous)

2. ไม่ได้อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร การมีน้ำคัดหลั่งออกมาในช่วงตั้งครรภ์ หรือ ในเด็กทารกแรกเกิด (Witchs' milk) ถือเป็นเรื่องปกติไม่มีอันตรายใดทั้งสิ้น

สาเหต
สาเหตุของภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอกชนิดไม่ร้ายของท่อน้ำนม,มะเร็งเต้านม, ซีสต์(Fibrocystic disease) ,อาจเกิดจากยาบางชนิด หรือระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง
ลักษณะของน้ำคัดหลั่งจากสาเหตุต่างๆ จะต่างกัน โดยพอจะแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้

1. น้ำคัดหลั่งที่เป็นเลือด,สีช้ำเลือดช้ำหนอง หรือ เป็นน้ำ(Bloody,serosanguinous,serous discharge) โดยทั่วไปจะมีน้ำคัดหลั่งออกมาจากหัวนมเพียงรูเดียว ข้างเดียว(ปกติหัวนมจะมีท่อน้ำนม 15-20 ท่อต่อข้าง) เป็นภาวะที่ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด สาเหตุอาจเกิดได้จากเนื้องอกชนิดไม่ร้ายของท่อน้ำนม,มะเร็งเต้านม,และซีสต์ (Fibrocystic disease) ส่วนใหญ่มักเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายของท่อน้ำนม(Intraductal papilloma) ซึ่งมักไม่มีก้อนในเต้านมร่วมด้วย มะเร็งเต้านมพบได้ถึง 28% ในกลุ่มนี้และมักมีก้อนในเต้านมร่วมด้วย

2. น้ำคัดหลั่งที่เป็นน้ำนม (Galactorrhea) คือการที่มีน้ำนมไหลออกมา ในช่วงที่ไม่ได้ให้นมบุตร ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
1) ภาวะปกติ (Physiological Galactorrhea)
เช่น -หลังคลอดบุตรนานๆ อาจยังมีน้ำนมไหลได้ หรือจากการกระตุ้นต่อเนื่องทำให้มีน้ำนมไหลออกมาได้ -มีน้ำนมไหลช่วงกำลังเริ่มมีประจำเดือน(Menarch) -ช่วงที่หน้าอกกำลังเจริญในวัยรุ่น -ช่วงใกล้หมดประจำเดือน(Menopause) ซึ่งถือเป็นภาวะปกติทั้งสิ้น
2) ภาวะผิดปกติ (Secondary Galactorrhea)
เช่น -จากยาบางชนิด ที่ทำให้ระดับฮอร์โมนที่ใช้ในการสร้างน้ำนม (Prolactin) สูงขึ้น เช่น ยาแก้อาเจียน(plasil,motilium),ยากันชัก(chlorpromazine),ยากล่อมประสาท(haloperidol),ยาลดความดัน(reserpine, methydopa),ยาฮอร์โมน(estrogen),ยาเสพติดบางชนิด(opriates group)
-โรคที่ทำให้ระดับฮอร์โมนที่ใช้ในการสร้างน้ำนม (Prolactin) สูงขึ้น เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมอง(Pituitary adenoma ,Prolactinoma)

3. น้ำคัดหลั่งที่เป็นสี (Coloured opalescent or multicoloured discharge) น้ำคัดหลั่งที่ไม่ใช่ น้ำนม,เลือด หรือ น้ำใส จะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งอาจมีสีต่างๆได้หลายสี เช่น เหลือง,เขียว,น้ำตาล กลุ่มนี้ไม่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเลย สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจาก การขยายตัวของท่อน้ำนม (Mammary duct ectasia) หรือ ซีสต์(Fibrocystic disease)

การรักษา
-ควรมาพบเพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด
-กรณีที่น้ำคัดหลั่งเป็น น้ำนม หรือ น้ำสี โดยเฉพาะถ้าออกมาจาก หลายท่อน้ำนม หรือเป็นทั้ง 2 ข้าง พวกนี้มักไม่มีพยาธิสภาพผิดปกติ การรักษาจะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ควรตรวจร่างกายสม่ำเสมอ check upด้วย Mammogram ปีละครั้ง ถ้าอายุมากกว่า 35 ปี
-ในกรณีที่น้ำคัดหลั่งเป็นเลือด เนื่องจากมีโอกาสเป็น มะเร็งเต้านมถึง 28% ฉะนั้นควรได้รับการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น mammogram ,ฉีดสีดูท่อน้ำนม,อาจต้องตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ กรณีที่มีก้อนร่วมด้วย,อาจต้องตัดเอาท่อน้ำนมที่ผิดปกติออก (Microdochectomy or Segmental resection)
-ถ้าผลชิ้นเนื้อ เป็น มะเร็ง ต้องรักษาแบบ มะเร็งต่อไป

โดย นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์