เลี้ยงอย่างไรให้ลูกฉลาด


ความฉลาดคืออะไรความฉลาด หมายถึงการรู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหา ตลอดจนการสื่อความหมายและพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์และสังคมซึ่งทำได้ดีกว่าเด็ก ทั่วไปในวัยเดียวกัน โดยที่เมื่อวัดระดับความสามารถของเชาว์ปัญญา โดยแบบทดสอบมาตราฐานIQ Test ของเด็กฉลาดแล้วมักจะพบว่ามีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กปรกติทั่วไปในวัยเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจมีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และ เหมาะสมกับสถานการณ์เหนือเด็กทั่วไป แต่มีค่าระดับเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปรกติ ก็อาจนับเป็นเด็กฉลาดได้

จะส่งเสริมความฉลาดของลูกได้อย่างไร

ความฉลาดเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ โดยการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเสริมประสบการณ์อย่างเหมาะสมกัยวัยและความสามารถของเด็ก การศึกษาเรื่องเด็กเล็กในปัจจุปบันทำให้เราพบว่าความสามารถของเด็กทารกในเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และเชาว์ปัญญาเพิ่มขึ้น กล่าวคือ

1.เด็กแรกเกิด
มีความสามารถในการมองและการเลียนแบบสีหน้าพ่อแม่ได้
2.เด็กสามเดือน
จะเริ่มเรียงลำดับสิ่งที่มองเห็นและจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
3. เด็กห้าเดือน
จะเริ่มรู้จักเรื่องของจำนวนและการบวกเลขอย่างง่ายๆได้
4.เด็กหกเดือน
จะเริ่มรู้จักเสียงที่เป็นภาษาของตัวเองได้
ดังนั้นการช่วยสร้างเสริมประสบการณ์อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความฉลาดของเด็ก จึงเริ่มได้ ตั้งแต่แรกเกิดโดยเริ่มจากการเปิดโอกาสให้เด็กได้ยินเสียงต่างๆ เช่น เสียงพูดคุย เสียงดนตรี เสียงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้เด็กเคลื่อนไหวและใช้มือสัมผัสสิ่งรอบตัว จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี พ่อแม่ที่จะช่วยส่งเสริมความฉลาดของลูกได้ดี ควรจะรู้ภาวะปรกติของเด็กแต่ละวัย ในขณะเดียวกันจะต้องเป็นคนช่างสังเกต ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่าในช่วงเวลานั้นๆ ลูกของตนมีความสามรถเหมาะสมกับวัย หรือ เก่งกว่าวัย กำลังสนใจอะไร และฉับไวพอที่จะรู้ว่าควรจะสอดแทรกอะไรให้แก่ลูกที่จะช่วยให้เด็กรู้จักคิด รู้จักแก้ไขปัญหา พร้อมกับฝึกความคิดไปในตัว

ตัวอย่างเช่น

เด็กแรกเกิดที่ลืมตามองจ้องไปยังของเล่นรูปช้างที่อยู่ตรงหน้า พ่อแม่อาจจะช่วยชี้ที่รูปช้างนั้นแล้วพูดว่า นี่ตัวช้างนะคะ พอตรั้งต่อๆไปที่ลุกมองไปยังตัวช้างอีกก็ค่อยๆเพิ่มรายละเอียดขึ้น เช่น ช้างมีหูใหญ่ 2 หู นี่ไงคะหูช้าง พร้อมกับเอามือชี้ที่หูช้าง เป็นต้น พอเด็กอายุ 3-5 เดือน เวลามองไปที่ตัวช้าง
พ่อแม่อาจสอดแทรกเรื่องจำนวนนับเพิ่มขึ้นโดยพูดเพิ่มดังนี้ ช้างมันมีหูใหญ่ 2 หู นี่ไงคะ หูช้าง ..1 หู 2 หู พร้อมกับเอานิ้วชี้ที่หูช้างนั้นทีละหูให้ดู เด็กอายุ 6-7 เดือน ที่เริ่มคืบคลาน พ่อแม่อาจเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา โดยจับลูกนั่งพร้อมกับวางของเล่นตรงหน้าให้อยู่ห่างขนาดเอื้อมมือหยิบไม่ถึง
เพื่อให้ลูกพยายามจะหาวิธีไปเอาของเล่นมาโดยลูกอาจล้มตัวไปข้างหน้า เพื่อที่จะอยู่ในท่าคืบ คลาน ไปเอาของเล่นนั้น เด็กอายุ 9 - 12 เดือน ซึ่งกำลังอยากรื้อของ พ่อแม่อาจเอาของเล่นใส่กล่องหรือตะกร้าวางให้เด็กได้รื้อ ได้ค้นของขึ้นจากกล่องนั้น
แต่ขณะเดียวกันต้องสอนให้รู้จักเก็บของเล่นนั้นด้วย เพื่อจะได้รู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองจะสามารถทำได้ ในที่นี้คือสามารถรื้อของเล่นได้อย่างที่ต้องการ แต่ต้องรู้จัการเก็บของนั้นด้วยตนเอง
ซึ่งหลักการนี้ใช้ได้กับเด็กทุกอายุ เด็กอายุ 2-3 ปี ซึ่งกำลังสนใจ ขีดเขียน แม้เพียงลากเส้นยุ่งๆ 2-3 เส้น บนกระดาษ พ่อแม่อาจถามลูกตอนเขียนเสร็จแล้วว่า
นี่รูปอะไรคะ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เด็กคิดและตอบ เด็กอายุ 3-4 ปี ซึ่งเดินไปพบก้อนกรวดบนถนนและก้มลงดู ขระเดินไปกับพ่อแม่ พ่อแม่อาจหยุดเดินชั่วครู่ และก้มลงดูก้อนกรวดนั้นกับลูก
พร้อมกับคุยเรื่องเกี่ยวกับก้อนกรวดสั้นๆ ก่อนที่จะชวนให้ลูกเดินต่อไป หรือในทางกลับกัน พ่อแม่เป็นคนเห็นกรวดสีสวยก่อนจึงหยุดเดินแล้วชี้ให้ลูกดูกรวดนั้น
จะช่วยเสริมความสามารถในการสังเกตแก่ลูกได้จะเห็นว่าพ่อแม่ที่ช่างสังเกต ช่างพูดคุย และมีความอดทน มีความใจเย็นที่จะสร้างบรรยากาศรอบตัวให้ดูน่าสนใจ
น่าสนุกที่จะเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญที่เปิดโอกาสให้ลูกพัฒนาประสบการณ์ที่ได้รับนั้น เป็นความฉลาดต่อไปได้