เลี้ยงลูกให้ไม่ทะเลาะกัน



พ่อแม่หลายคนบ่นว่าลูกไม่สามัคคีกันเลยชอบทะเลาะเบาะแว้งตีกันเรื่อย
พี่น้องอิจฉากันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พ่อแม่ต้องเจอะเจอในชีวิตประจำวัน
ทำไมพี่น้องอิจฉากันทั้ง ๆ ที่รักกันก็ตามเพราะเด็กก็คือเด็กย่อมมีอารมณ์รักอารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียด ได้แบบ ทันทีทันควันหรือเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ แล้วลืมไปง่าย ๆ ได้เช่นกัน และที่อิจฉากันมาจากแย่งความรักของพ่อแม่โดยต่างคิดว่าพ่อแม่ไปรักอีกคนมากกว่า "อเลน เฮย์ส" (Alan Hayes) นักจิตวิทยาและเป็นศาสตราจารย์การศึกษาพัฒนาเด็ก ที่Institute of Early Childhood at Macquarie University ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นลูกคนแรกจะอิจฉาน้องมากหน่อยเพราะเคยเป็นยอดดวงใจของพ่อแม่ อยู่ ๆก็มีน้องแย่งความรักเลยอดน้อยใจไม่ได้ว่าทำไมแม่เป็นอื่นไปได้ยังไง ซึ่งไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายถ้ารู้จักเข้าใจ (น้อย ๆ ) ของลูกทุกอย่างจะพอไปได้และไปได้ดี โดยเฉพาะพ่อแม่จะเป็นคนสำคัญในการทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดีได้ถ้ารู้จักตัวให้ลูกไว้ใจ เพราะการอิจฉากันคือการให้ลูกฝึกแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือป้องกันตัวเองซึ่งอาจจะเริ่มด้วย


พ่อแม่ต้องยุติธรรมไม่ลำเอียง

เด็กไม่ว่าเล็กหรือโตจะชอบเปรียบเทียบว่าพ่อแม่จะชอบใครให้ใครมากกว่ากัน แกรนเนีย ซีอัน (Grania Sheehan) นักวิจัยเรื่องครอบครัวที่ Australian Institute of Family Studies วิจัยพบว่าที่พ่อแม่แสดงความสนใจหรือชอบอีกฝ่ายหนึ่งมากเท่าไร ความอิจฉา จะทวีความรุนแรงขึ้นเพราะเด็กจะเปรียบเทียบตลอดเวลาและพ่อแม่ไม่รู้ตัวถ้าทำอะไร โดยไม่คิด เช่นอาจจะกอดน้องก่อนพี่ซึ่งควรจะกอดพี่ก่อนหรือทักทายพี่ก่อนเพราะแก่โตกว่า หรือชมเชยลูกคนใดคนหนึ่งว่าเรียนเก่ง วาดภาพดี พูดจาไพเราะ หน้าตาน่ารัก แต่งตัวดี ล้างจานเก่ง เป็นต้น ประโยคแบบนี้ทำให้เด็กคิดว่าแกคงไม่ดีแม่ถึงไม่ชมเชยแกบ้าง พ่อแม่ต้องระมัดระวังทั้งคำพูดและการปฏิบัติโดยต้องแสดงให้เห็นว่า "รัก" ลูกทุกคน เท่าเทียมกัน อาจจะให้ของพอ ๆ กัน เช่น พี่โตกว่าข้าวอาจมากกว่า น้องตัวเล็กกินข้าวได้น้อย แม่ตักให้น้อยไม่ได้แปลว่าแม่ไม่ยุติธรรมให้พี่มากกว่าน้อง เหมือนเสื้อพี่กับเสื้อน้องจะเท่ากันไม่ได้เนื่องจากสูงต่ำอ้วนผอมไม่เหมือนกัน เวลาพี่น้องทะเลาะกันก็อย่าเพิ่งไปว่าอีกฝ่ายให้เสียใจเพราะจะกลายเป็นเข้าข้างไป ให้พี่น้องตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร เช่น แย่งกันเล่นเกมถ้าตกลงกันไม่ได้ก็เก็บเกม ที่จะเล่นเสีย แล้วบอกว่าถ้าตกลงกันได้เมื่อไรจะคืนให้ เป็นการสอนลูกให้แก้ปัญหาของ ตัวเองให้รู้ว่า จะต้องประนีประนอมกันอย่างไร ถ้าทำไม่ได้จะเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือไม่ได้เล่นทั้งคู่ เป็นการสอนให้รู้จัก "รับ" และ "ให้" รู้จักการสูญเสียถ้าตกลงอะไรกันไม่ได้

ยอมรับว่าลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ศาสตราจารย์เฮย์ส เน้นว่าพ่อแม่ทุกคนต้องยอมรับว่าลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นอย่าได้เปรียบเทียบลูกคนใดคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง เช่น ทำไมลูกไม่เก่งเหมือนพี่ หรือเรียบร้อยเหมือนน้อง พูดจาไพเราะเหมือนพี่ กินไม่เรียบร้อย ดูน้องเป็นตัวอย่าง จะกินจะอยู่ก็เป็นลูกผู้ดี ลูกแย่ไปทุกที ทำไมลูกว่ายน้ำไม่เก่งเหมือนพ่อ ตอนพ่อเด็ก ๆ ได้เป็นแชมเปี้ยน (แห่งซอย) ลูกไม่สวยเหมือนพี่ ฯลฯ ประโยคแบบนี้สะเทือนใจเด็กเล็ก ๆ พูดระบายความทุกข์ไม่ได้จะยิ่งอึดอัดใจเมื่อหาทางออก ไม่ได้แกอาจจะพาลพี่พาลน้องหรือเล่นบทขว้างข้าวของให้พ่อแม่โมโหมากขึ้น จนอาจเห็นแกไม่ดีจริง ๆ จนแกน้อยใจมองพ่อแม่ว่าคงหมดทางแก้ไขเป็นพ่อแม่ที่ดีแล้ว การเปรียบเทียบลูกคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่งจึงเสมือนยาพิษที่ทำลายความสัมพันธ์ที่ดระหว่างลูก ๆ หรือเท่ากับเพิ่มการอิจฉาหันให้มากขึ้น การแก้ปัญหานี้คือต้องยอมรับว่าลูกแต่ละคนไม่เหมือนกันแกจะเป็นอย่างที่แกอยากจะเป็น ก็ปล่อยแกไปถ้าไม่ทำอันตรายแก่ใครให้แกเชื่อมั่นตัวเองอย่าไปว่ากล่าวแกจนแกไม่แน่ใจว่า ตัวแกควรทำตัวแบบไหนซึ่งเท่ากับสร้างแกให้สับสนในตัวเอง

ให้ความรัก

ความรักเสมือนปุ๋ยที่ช่วยให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีความหมาย เด็ก ๆ เช่นกันอยากให้พ่อแม่รัก ไม่อยากให้พ่อแม่รักใครมากกว่าตัว ถ้าเมื่อไหร่แกคิดว่า พ่อแม่รักพี่หรือน้องมากกว่า แกจะอิจฉาคน ๆ นั้น อเดล เฟเบอร์ กับ เอเลน แมซลิช (Adele Faber and Elaine Mazlish) ผู้แต่งหนังสือ Siblings Without Rivalry กล่าวว่าการอยากได้ความรักจากพ่อแม่ เป็นปัจจัยสำคัญในการที่ อดอิจฉากันไม่ได้ เด็กทุกคนอยากรักอยากถูกรัก ความรักจึงทำให้เด็กเจริญเติบโตอย่างมั่นคง เหมือนต้นไม้ต้องการปุ๋ย ความรักจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ยิ่งเด็กเล็ก ๆ ยิ่งต้องการให้พ่อแม่รักแก อย่างหมดใจ ห่วงใย รักใคร่ เป็นความรักที่บริสุทธิ์ เสมอภาคไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และต้องทำทั้งกาย วาจา และใจ

อย่าให้ลูกรู้สึกด้อยกว่า

พ่อแม่หวังดีและหวังประหยัดจึงมักจะให้น้องได้ของจากพี่ เช่น รับเสื้อผ้า หนังสือ รองเท้า จากพี่ ๆ เป็นการให้โดยไม่บอกเหตุผล เด็กจึงรู้สึกเป็นปมด้อยว่า ตนคงไม่มีค่าเท่าพี่ หรือต่ำต้อยกว่า อย่าลืมเด็กเล็ก ๆ แยกแยะไม่ออกว่าทำไมต้องรับช่วง เด็กรู้จักแต่ดำกับขาว เด็กไม่อาจคิดเป็นเหตุเป็นผล ประกอบกับแกยังเล็ก เหตุและผลจึงเกินสติปัญญาน้อย ๆ ของแกจะแยกแยะได้ ตัวอย่างเด็กชายต้อยวัย 6 ขวบถามแม่ "ทำไมหนูต้องใส่เสื้อกางเกงของพี่ตั้ม ทำไมหนูไม่มีใหม่" "ก็ยังดีนี่ลูก" แม่พูดแบบนี้เด็กชายต้อยไม่เข้าใจและพานเสียใจว่าแกไม่มีค่าเท่าพี่เลยพานเกลียดพี่ ไม่ชอบหน้าหรืออิจฉาพี่ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่มีเงินและจำต้องให้ลูกคนถัดไปรับช่วงข้าวของ ก็ควรพูดให้เข้าใจถึงความจำเป็น ด้วยภาษาง่าย ๆ และถ้ามีเงินเมื่อไรพอซื้อของใหม่ให้ลูกได้ ก็ควรซื้อให้ทุกคนไม่ว่าพี่หรือน้อง เพื่อแกจะได้ไม่รู้สึกด้อยกว่ากัน ผู้ใหญ่ยังอยากได้ของใหม่เด็กก็เช่นกันไม่ว่าจะเป็นของเล่น เครื่องใช้ไม้สอย อาหารการกิน เสื้อผ้า เป็นต้น การอิจฉาจึงเป็นเรื่องที่มีในครอบครัวไม่มากก็น้อย เป็นแค่บันไดที่จะทำความเข้าใจต่อกัน ถ้าพ่อแม่เข้าใจเอาใจใส่ไม่ทอดทิ้งลูกคำนึงความรู้สึกและพยายามประคับประคองจิตใจ ลูก ๆ จะเข้าใจกันได้ ตัวอย่างมีมากมายที่ตอนเล็ก ๆ จะอิจฉากัน ถ้าพ่อแม่เลี้ยงถูกทาง โตขึ้นลูกก็รักกันได้ เหมือนกรณี ด.ช.ใหญ่ กับ ด.ช.กลางที่เล็ก ๆ ไม่ชอบใจกัน อิจฉากัน ตีกันบ้าง พอโตขึ้นก็รักกันเพราะพ่อแม่ค่อย ๆ พูดจาด้วยความรักความเข้าใจจนด.ช.ใหญ่ ด.ช.กลาง รู้ว่าพ่อแม่รักแกทั้งสองคน และด.ช. กลาง โชคดี มีพี่ใหญ่คอยปกป้อง และพี่ใหญ่โชคดี มีน้องกลางที่รักเคารพพี่ เวลาไปโรงเรียนใคร ๆ ก็ไม่กล้ารังแก เพราะเห็นว่าบ้านนี้มีพี่น้องรักกัน นี่คือความรักความเข้าใจของพ่อแม่ซึ่งเป็นเกราะที่ดีให้ลูกเลิกอิจฉากันลูกจะได้รักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไป

ขอบคุณนิตยสารแม่และเด็ก